ร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่นมีมากกว่าของกิน

Lifestyle TravelLeave a Comment on ร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่นมีมากกว่าของกิน

ร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่นมีมากกว่าของกิน

จากนักท่องเที่ยวมาเป็นคนที่ต้องมาใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นระยะยาว เราก็ต้องมาเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ทำความเข้าใจกับสังคมนี้ ตอนเป็นนักท่องเที่ยว ร้านสะดวกซื้อหรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกกันว่า コンビニ (คอนบินี่ ก็ย่อมาจาก Convenient Store ใครมาบ่อยๆฝึกอ่าน คาตากานะ มาหน่อย อาจจะเที่ยวสนุกขึ้นนะคะ) เป็นร้านที่ใช้ฝากท้อง และหาของอร่อยๆกิน (ขนมหวานอร่อยมว้ากกกกก 55) แต่พอมาอยู่ญี่ปุ่นร้านสะดวกซื้อเป็นมากกว่าที่คิดมากๆ

ตอนเป็นนักท่องเที่ยวเน้นนั่งรถไฟฟ้าเป็นหลัก สถานที่เข้าห้องน้ำแบบง่ายๆก็จะเป็นห้องน้ำในสถานีรถไฟ แต่พอตั้งแต่ย้ายมาอยู่ ก็แทบไม่ได้ขึ้นรถไฟอีกเลย แถมเมืองที่อยู่ก็ไม่ได้สะดวกให้นั่งรถไฟไปไหนมาไหนด้วย ยิ่งพอตอนท้อง จะเห็นความสำคัญของการมีรถยนต์ขึ้นมาทันที ปกติเวลาอยู่ไทยถ้าขับรถอยู่แล้วอยากจะเข้าห้องน้ำกลางทาง สิ่งที่เราจะมองหาคือปั๊มน้ำมันใช่ไหมคะ แต่มาญี่ปุ่นถ้าทำแบบที่ไทยไม่ได้เข้าห้องน้ำแน่ๆ ถ้าขับรถแล้วหาห้องน้ำล่ะก็… ไปเลยค่ะ ไปที่ข้อแรกที่ร้านสะดวกซื้อทำได้ (ในโตเกียวก็เป็นเหมือนกันนะคะ) บริการห้องน้ำสะอาดๆในร้านสะดวกซื้อ ยิ่งถ้าอยู่ต่างจังหวัด ยิ่งสบายที่จอดรถพร้อม

เข้าห้องน้ำในร้านสะดวกซื้อ

มาต่อกันที่ข้อ 2 มาอยู่นานๆก็ต้องทำเอกสาร ต้องซีรอก ต้องปริ้นท์ ต้องสแกน… ก็เหมือนเดิมค่า พุ่งตรงมาที่ร้านสะดวกซื้อได้เลย พก USB มา หรือถ้าเครื่องรุ่นใหม่ๆหน่อยรองรับสั่งปริ้นท์ผ่านมือถือด้วยนะคะ สนนราคาขาว-ดำ ขนาด A4 ที่ประมาณ 10 เยน ถ้าปริ้นท์สีก็ปรระมาณ 60-80 เยนค่ะ ราคาตามขนาดกระดาษนะคะ

ทำงานเอกสารในร้านสะดวกซื้อ

พอเตรียมเอกสารเสร็จอยากส่งเอกสารก็ทำได้อีก ส่วนใหญ่จะมีบริการตู้ไปรษณีย์ในร้าน Lawson ซึ่งไม่ใช่แค่บริการเฉพาะตู้นะคะ แต่ขายแสตมป์ ซองจดหมาย Letter Pack (เป็นซองพร้อมใช้มีหลายขนาดและราคา ไม่ต้องแปะแสตมป์เพิ่ม และเป็นราคาสำหรับส่งแบบลงทะเบียนด้วยค่ะ) บริการคล้ายๆ “ร้านไปรษณีย์” ที่ไทยเลยค่ะ แต่ที่เก๋ๆคือส่งได้ 24 ชั่วโมง เพราะร้านเปิด 24 ชั่วโมงค่า

ส่งไปรษณีย์ก็ทำได้

ส่วนอันนี้เรื่องธรรมดาๆ ที่ที่ไทยก็ทำได้แล้วคือจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ แต่ที่มากกว่านั้นคือจ่ายภาษีรถยนต์ได้ด้วย

ขอเพิ่มเติมว่าที่ญี่ปุ่นจะแบ่งบริษัทสาธารณูปโภคเป็น น้ำประปา แก๊ส(ใช้ทั้งทำกับข้าวและทำน้ำร้อนในห้องน้ำ) และไฟฟ้า ซึ่งไม่ได้ผูกขาด ขึ้นอยู่กับว่าบ้านที่พักอยู่บริษัทไหนให้บริการ บางบริษัทรับชำระผ่าน LinePay บางบริษัทรับโอนเงินทางธนาคารอย่างเดียว บางบริษัทรับตัดบัตรเครดิตก็มี

ชำระค่าบริการต่างๆ

ใครที่มาญี่ปุ่นบ่อยๆก็น่าจะพอรู้จักบัตร Pasmo, Suica, Icoca, Pitapa, Kitaka กันบ้าง ซึ่งมีเยอะมากตามบริษัทที่ให้บริการรถไฟในแต่ละจังหวัด บัตรเหล่านี้จะเรียกรวมๆว่า IC Card ซึ่งจริงๆเกิดมาเพื่อใช้ขึ้นรถไฟแต่ต่อมาก็เอามาใช้ซื้อของในร้านสะดวกซื้อได้ หรือจะเอาไปจ่ายค่าอาหารได้ในร้านที่รับ IC Card ปกติก็จะต้องไปเติมเงินที่สถานีรถไฟแต่หลังๆ เริ่มเติมเงินที่ร้านสะดวกซื้อได้แล้ว บางร้านเติมที่แคชเชียร์ บางร้านต้องเติมเองที่ตู้ ATM (จะมีข้อจำกัดของพื้นที่บริการ แต่ส่วนใหญ่ถ้าใช้ Suica ของ JR จะแทบเติมได้ทั่วไปค่ะ)
และถ้าใครกลัวว่าจะเหลือเงินในบัตรมากเกินไป อยากเก็บบัตรกลับบ้านก็เอามาใช้ซื้อของได้เลยนะคะ ไม่ต้องมานับเศษเหรียญด้วย อิอิ

เติมเงินและใช้จ่ายผ่านบัตร IC Card ได้ที่ร้านสะดวกซื้อ
ภาพรวมของ IC Card: https://www.japan-guide.com/e/e2359_003.html

ส่งของผ่าน クロネコ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อแมวดำ ได้ที่ 7-11 ใช้ส่งพัสดุชิ้นใหญ่ๆ จะส่งหาเพื่อนหรือจะส่งถึงตัวเอง เช่น เวลาย้ายบ้าน จะไปเล่นสกีแต่ไม่อยากแบกขึ้นรถไฟไป จะไปเที่ยวแต่ไม่อยากแบบกระเป๋าเดินทาง แต่แมวดำไม่รับส่งเอกสารกับเงินนะคะ ต้องไปส่งกับไปรษณีย์ค่า

ใช้บริการแมวดำส่งของ

จะใช้ Cashless ตลอดก็คงไม่ได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้เงินสดแต่มานึกได้หลังเวลาทำการ (ตู้ ATM ตามธนาคารก็มีเวลาทำการนะคะ นอกเวลาทำการตู้ปิดก็มีนะคะ) ถ้าอยากจะกดเงินสดได้แบบไม่สนเวลาทำงาน (อาจจะมีค่าธรรมเนียมการกดนอกเวลาครั้งละ 220 เยนด้วยนะคะ) ก็เชิญที่ร้านสะดวกซื้อได้เลย

กด ATM 24 ชั่วโมง

ไม่สะดวกไปรับพัสดุในเวลาทำการของไปรษณีย์ก็สามารถบอกไปรษณีย์ว่าจะขอรับพัสดุที่ร้านสะดวกซื้อที่สะดวกได้ด้วยนะคะ

รับพัสดุไปรษณีย์

เวลามาญี่ปุ่นก็จะมักจะหาถังขยะลำบากเนื่องจากคนญี่ปุ่นจะต้องแยกขยะตามหลักการจัดการขยะของแต่ละเมือง (ซึ่งอาจจะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด) แต่หลักๆก็จะมี ขยะเผาได้ ขยะเผาไม่ได้ ขยะอันตราย ขวดPET กระป๋อง ขวดแก้ว ขยะพลาสติก กระดาษ เป็นต้น ซึ่งถ้าที่เห็นวางทั่วๆไปหน่อยก็จะเป็นถังขยะทิ้งขวดกับกระป๋องที่อยู่ข้างๆตู้กดน้ำ แต่ถ้าเป็นขยะเศษอาหาร ขยะพลาสติก ขยะเศษกระดาษต่างๆ ถ้าอยากหาที่ทิ้งที่สะดวกก็แนะนำให้ทิ้งที่ร้านสะดวกซื้อเลยค่ะ

ทิ้งขยะแยกประเภท

และบริการสุดท้ายที่เพิ่มความสะดวกสบายให้คนที่ถือ My Number Card ถ้ามี My Number Card จะสามารถกดเอกสารราชการได้โดยไม่ต้องไปติดต่อที่เขต เช่น 住民票 じゅうみんひょう สำเนาทะเบียนบ้าน、印鑑登録証明書 いんかんとうとくしょうめいしょ เอกสารรับรองการลงทะเบียนอินคัง、課税証明書 かぜいしょうめいしょ(市県民税)หนังสือรับรองการเสียภาษี เป็นต้น ได้ที่ตู้ Multimedia Station ได้ โดยที่ค่าบริการมักจะถูกกว่าติดต่อเคาเตอร์ คือติดต่อเคาเตอร์ใบละ 300 เยน ถ้ากดจากตู้ 200 เยน (ซึ่งบริการและค่าบริการของแต่ละจังหวัดควรศึกษาจากเว็ปไซต์ของจังหวัดอีกทีนะคะ)

ตู้ Multimedia
มันส์ต้องแชร์
สาวอักษรเอกจีน พูดเกาหลีที่ถนัดงาน event แต่สุดท้ายกลายมาเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกอยู่ที่ญี่ปุ่น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back To Top