6 เดือนแรกกับการเลี้ยงลูกที่ญี่ปุ่น

LifestyleLeave a Comment on 6 เดือนแรกกับการเลี้ยงลูกที่ญี่ปุ่น

6 เดือนแรกกับการเลี้ยงลูกที่ญี่ปุ่น

ภาคต่อหลังจากผ่านประสบการณ์คลอดและพักฟื้นที่โรงพยาบาลนาน 5 วันมาแล้ว ก็จะต้องไป follow up ที่โรงพยาบาลตอนครบ 2 สัปดาห์กับครบ 1 เดือน ซึ่งตรวจครบ 2 สัปดาห์แค่ชั่งน้ำหนัก วัดความดันอะไรง่ายๆ ส่วนตรวจครบ 1 เดือนคือตรวจเยอะหน่อย มีพบหมอเด็กพร้อมกับให้วิตามิน K กลับมากินที่บ้าน ซึ่งรอบนี้ตรวจแยกกับแม่ที่ต้องไปพบหมอตรวจภายในอีกครั้ง ถือเป็นการเสร็จสิ้นภารกิจกับโรงพยาบาลที่ฝากครรภ์และคลอดลูก

ต่อมาก็จะเป็นกิจกรรมกับทางเขต นอกจากจะต้องไปแจ้งเกิดลูกภายใน 14 วัน แล้วยังต้องยื่นเรื่องรับเงินช่วยเหลือบุตรเดือนละ 15,000 เยน ลงทะเบียนรับสิทธิ์ช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลบุตร (คนละส่วนกับที่ต้องเอาลูกเข้าระบบประกันสังคม) รวมถึงการแจ้งที่อยู่พักฟื้นของแม่และเด็กด้วย เพราะหลังจากที่แจ้งไปแล้ว ประมาณภายใน 1 เดือนจะมีเจ้าหน้าที่จากเขตติดต่อเข้ามาพบปะพูดคุยดูสุขภาพร่างกายและจิตใจของแม่และเด็กที่บ้าน พร้อมทั้งคำแนะนำการเลี้ยงดูต่างๆ รวมไปถึงถ้าต้องการปรึกษาปัญหาการเลี้ยงดูเด็กสามารถไปปรึกษาได้ที่ไหนบ้าง (ความพีคคือคุณป้าที่มาแนะนำ ตอนอธิบายสถานที่คือค่อยๆอธิบายวิธีเดินทางโดยรถยนต์ด้วยสมุดแผนที่ขนาด A3 แล้วเปิดหน้าพลิกๆๆๆ แม่ฟังตามยังงงเลย แถมจำไม่ได้อีกตะหาก 😂😂😂 อยากจะบอกป้าว่า เอาชื่อมาค่ะ เดี๋ยวเสิร์จ google map คุยกันดีกว่าเนอะ 😅😅😅 แม้ว่าจะขอชื่อมาได้แล้ว แต่คุณป้าก็ยังคงพยายามอธิบายต่อไปจ้าาาาาาาา แหะๆ

นอกจากคุณป้ามาคุยกันแล้ว คุณป้ายังแบกของมาเยอะมาก (แบกมายังไงคนเดียว) ทั้งของฝาก (แพมเพิร์ส) แล้วยังแบกตาชั่งเด็กทารกมาด้วย เอามาชั่งน้ำหนักลูกลงบันทึกกลับไป ใช้เวลาไปเกือบ 2 ชั่วโมงได้

หลังจากนั้นไม่นานเอกสารตรวจสุขภาพลูกครบ 4 เดือนและคูปองรับวัคซีนลูกก็ส่งไปรษณีย์มาถึงที่บ้าน โดยเราสามารถเลือกสถานพยาบาลในลิสต์ที่คุณป้าเอามาให้ได้ จะมีบอกว่าที่ไหนรับวัคซีนตัวไหนได้บ้าง โชคดีที่คลินิกเด็กไม่ไกลจากบ้านนักรับวัคซีนได้ครบทุกตัว ก็จะเริ่มกิจกรรมไปคลินิกเด็กทุกๆ 4 สัปดาห์ ตั้งแต่ลูกอายุครบ 2 เดือน ฉีดวัคซีนที่นี่แค่วัดไข้กับดูลิ้น ดูคอนิดหน่อยแล้วก็ฉีดเลย แต่ถ้าเป็นตอนที่ตรวจสุขภาพถึงจะมีชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงเข้ามาด้วย ซึ่งการพาลูกมารับวัคซีนถ้าไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเลย แล้วไม่คล่องคันจิด้วย อาจจะเสียเวลากรอกเอกสารนานมาก เพราะจะต้องตอบ questionnaires เกี่ยวกับสุขภาพทุกครั้ง เพื่อเป็นหลักฐานให้แพทย์พิจารณาว่ารับวัคซีนได้หรือไม่ ในส่วนของการตรวจสุขภาพก็เช่นกัน ต้องกรอกแบบฟอร์มเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงดูลูก การให้นม การขับถ่าย พฤติกรรมต่างๆของลูกก่อนที่จะได้เข้าพบหมอ 

ความน่ารักของคลินิกเด็กแถวบ้านคือจะแบ่งโซนให้รอรับบริการสำหรับคนที่ไม่ป่วยแต่มารับวัคซีนกับตรวจสุขภาพโซนนึง (แบ่งห้องเป็นสัดเป็นส่วน) กับโซนเด็กป่วยที่มารับการรักษา ไม่ให้มาปะปนกัน เพื่อลดความเสี่ยงของเด็กที่ไม่ป่วยจะได้แข็งแรงกลับไป แถมใช้เวลาน้อยกว่าไปโรงพยาบาลเยอะค่ะ ส่วนใหญ่ใช้เวลาที่คลินิกเด็กไม่เกิน 30 นาทีก็ได้กลับบ้านแล้ว ถ้าไปโรงพยาบาลใหญ่ๆ อย่างน้อยต้องมีรอคิว 1-2 ชั่วโมงเป็นเรื่องปกติ

“เล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับวัคซีนที่ญี่ปุ่นสำหรับผู้ใหญ่ มักจะต้องโทรไปจองวัคซีนก่อน แถมในโรงพยาบาล (病院) มักไม่ค่อยมีบริการฉีดวัคซีนประจำฤดูกาล เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่กลายเป็นว่าเหล่าคลินิก (医院) ทั้งหลายจะมีมากกว่า ว่าง่ายๆเลยถ้าอยากใช้บริการทางการแพทย์ของที่ญี่ปุ่นแล้วไม่อยากเดินทางไปแล้วเสียเที่ยว ให้โทรเช็คสถานพยาบาลที่ตั้งใจจะไปก่อนว่าทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ หรือต้องทำนัดก่อนไหม บางที่ถ้าไม่ทำนัดก็ไม่รับเคสด้วยนะคะ… จากประสบการณ์ตรงตอนพาแม่แฟนไปตรวจสุขภาพกลับไทยเมื่อต้นปียุคโควิดบุกโลก”

นอกจากตรวจสุขภาพทั่วไปแล้ว ตอนก่อนจะครบ 4 เดือน มีต้องไปตรวจกระดูกเชิงกรานและขาด้วย ซึ่งต้องไปตรวจที่คลินิกเฉพาะทาง (จัดกระดูก) เพราะคลินิกเด็กไม่ตรวจกระดูก เนื่องจากต้องให้หมอตรวจว่าลูกจะมีปัญหาขาโก่งที่กระทบต่อพัฒนาการเดินในอนาคตของลูกหรือไม่ ถ้าไม่มีปัญหาก็แค่ไปตรวจเช็ค ลงบันทึกในสมุดแม่ลูกเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

หลังจากผ่านการตรวจสุขภาพครบ 4 เดือนแล้วก็จะรอเอกสารจากเขตให้ไปตรวจอีกทีตอนครบ 10 เดือนเลยค่า ซึ่งต้องบอกก่อนว่าคาดว่าการจัดการและระบบของแต่ละเมืองในแต่ละจังหวัดอาจจะไม่เหมือนกัน 100% แต่โดยหลักการคร่าวๆที่รัฐจะช่วยเหลือเรื่องค่าคลอดบุตร ค่ารักษาพยาบาลบุตร ค่าวัคซีนพื้นฐานภาคบังคับ และค่าใช้จ่ายรายเดือนของบุตรจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศค่ะ

และถ้าใครกำลังเลี้ยงลูกอ่อนอยู่ที่เมืองไทย มีประสบการณ์อะไรสนุกๆที่ไทยก็มาแบ่งปันกันบ้างนะคะ 😀

มันส์ต้องแชร์
สาวอักษรเอกจีน พูดเกาหลีที่ถนัดงาน event แต่สุดท้ายกลายมาเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกอยู่ที่ญี่ปุ่น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back To Top