“เอกสารยืนยันตัวตน” ในญี่ปุ่น

บทความLeave a Comment on “เอกสารยืนยันตัวตน” ในญี่ปุ่น

“เอกสารยืนยันตัวตน” ในญี่ปุ่น

คนไทยจะคุ้นเคยกับบัตรประจำตัวประชาชน หรือ ID Card กันเป็นอย่างดี เพราะเรามีระบบเลขประจำตัวประชาชนมาหลายปีมากแล้ว (เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อ 1 มกราคม 2527) แต่ก็ยังมีประเทศที่ไม่ได้ใช้ระบบนี้ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น

บทความนี้เราจะมาพูดถึงญี่ปุ่นกัน ปกติแล้วคนญี่ปุ่นไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนที่เป็นเหมือนบัตรประจำตัวประชาชน คนญี่ปุ่นที่ทำใบขับขี่ ใบขับขี่ก็จะกลายเป็นเอกสารยืนยันตัวตนชั้นดี เทียบเท่ากับบัตรประจำตัวประชาชนของไทยเลยทีเดียว สำหรับคนที่ไม่มีใบขับขี่อาจจะต้องใช้บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมักไม่มีรูปอยู่บนบัตร อาจจะทำให้ใช้งานไม่ได้ในทุกกรณี ในกรณีเหล่านั้น คนที่ไม่มีใบขับขี่จำเป็นจะต้องไปคัดสำเนาทะเบียนบ้านหรือ 住民票 จากเขตมาเพื่อใช้ยืนยันตัวตน โดยสำเนาที่ไปคัดมามักจะมีอายุใช้งานได้ 3 เดือนนับจากวันที่ไปคัดเอกสารมา

住民票、運転免許、保険証

แต่ไม่กี่ปีมานี้ ญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มระบบคล้ายระบบเลขประจำตัวประชาชน เรียกว่า 個人番号(kojin bangou) หรือมีชื่อเรียกกันว่า My number เป็นเบอร์ประจำตัวทุกคนที่อยู่ที่ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อ ย้ายที่อยู่ ก็จะใช้เลขประจำตัวเดิม ซึ่งเพิ่งเริ่มใช้ระบบนี้เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา 

เนื่องด้วยกฎหมายของญี่ปุ่นไม่สามารถออกคำสั่งบังคับให้ประชาชนทำตามที่รัฐบาลสั่งได้ (แม้ในสถานการณ์โควิด-19… ญี่ปุ่นเลยไม่สามารถ lockdowns ใดๆได้) จึงไม่สามารถบังคับให้ประชาชนญี่ปุ่นทุกคนไปทำ My number card แต่ใช้วิธีพยายามรณรงค์และนำเสนอประโยชน์ของการถือ My number card ไว้

เริ่มต้นเลยทางการญี่ปุ่นเริ่มส่งเอกสารที่เรียกว่า 通知カード หรือบัตรแจ้งข้อมูลเลขประจำตัวมาที่บ้าน พร้อมกับวิธีการทำ My number card ที่สามารถยื่นสมัครได้หลายทาง ทั้งทาง internet, smartphone, ไปรษณีย์ หรือไปติดต่อทำบัตรที่เขตก็ได้ ทั้งนี้ในช่วงแรกยังไม่รณรงค์หนักเท่าปี 2020 นี้ เนื่องจากยังสามารถใช้ 通知カード เป็นเอกสารยืนยันเลขประจำตัวได้อยู่ ซึ่งเลขประจำตัวเหล่านี้ ถือกำเนิดมาเพื่อการจัดเก็บภาษีที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คนญี่ปุ่นหลายๆคนจึงเลือกที่จะไม่ไปทำบัตรแข็ง โดยเฉพาะคนที่ถือใบขับขี่อยู่แล้ว แทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออก My number card อีกใบ

通知カード หรือบัตรแจ้งข้อมูลเลขประจำตัว

จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 通知カード จะไม่สามารถใช้เป็นเอกสารยืนยันเลขประจำตัวได้อีก คนที่ยังไม่มีบัตรแข็งจะต้องไปติดต่อคัดสำเนาทะเบียนบ้านที่ระบุเลขประจำตัวมาใช้แทน เป็นวิธีกึ่งบังคับให้คนไปทำ My number card กัน นอกจากนี้แล้วยังมี My point campaign อีก คือใครที่ถือบัตรแข็งอยู่สามารถไปผูกกับ cashless เช่น บัตรเครดิต, paypay, linepay เป็นต้น เพื่อให้ได้แต้มพิเศษ เป็นเงิน ¥5,000 เอาไปแลกใช้ได้ในอนาคต ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้ช่วงนี้คนไปยื่นสมัคร My number card กันเยอะมาก จนระยะเวลาผลิตบัตรใช้เวลานานกว่า 2 เดือนแล้ว

マイナンバーカード หรือ My number card

สำหรับคนต่างชาติที่มาอยู่ญี่ปุ่นชั่วคราว จำเป็นต้องใช้ My number card ไหม…

อาจจะต้องบอกว่าถ้ามาเรียนเฉยๆ อาจจะไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ แต่ถ้ามาทำงานควรจะต้องทำไว้ เพราะว่าเวลาทำงานต้องเสียภาษีและต้องยื่นเอกสารยืนยันเลขประจำตัวด้วย แต่ในฐานะคนต่างชาติหลักๆแล้วเวลาติดต่อทำธุรกรรมต่างๆในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเปิดบัญชี ติดต่อเขตทำเรื่องย้ายเข้าย้ายออก หรือสมัคร my number card รวมถึงการติดต่อต่อวีซ่าต่างๆ ล้วนแล้วแต่ต้องใช้บัตรไซริวหรือ 在留カード ประกอบเพื่อยืนยันตัวตนอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องดีๆ สำหรับคนที่ถือ My number card ไว้ ก็คือสามารถไปกดเอกสารราชการ เช่น 住民票(สำเนาทะเบียนบ้าน)、印鑑証明書(เอกสารรับรองตราประทับ) เป็นต้น ที่เครื่องปริ้นท์ในร้านสะดวกซื้อได้ไม่ต้องเสียเวลาเข้าไปขอเองที่เขต (สำหรับเอกสารอื่นๆที่กดเองได้ จะต้องศึกษาจากเวปไซต์ของเขตบ้านที่อยู่ เพราะบริการจะแตกต่างกันไป) และค่าธรรมเนียมมักจะถูกกว่า นอกจากนี้ตั้งแต่ มีนาคม 2021 เป็นต้นไป ถ้ายื่นเรื่องผูกบัตร My number เข้ากับบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า 保健カード แล้วจะสามารถใช้บัตร My number แทนได้อีกด้วย

สำหรับอายุของ my number card ถ้าเป็นคนญี่ปุ่นหรือเป็นคนที่มีสิทธิ์พำนักถาวร บัตรของคนที่อายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปจะมีอายุ 10 ปี แต่ถ้าเป็นคนต่างชาติที่ถือสิทธิ์พำนัก 1-5 ปี บัตรจะมีอายุตามวันที่ที่ระบุตามบัตรไซริว (在留カード)

เพื่อนๆที่จะมาอยู่ญี่ปุ่นระยะกลาง-ยาว ลองชั่งใจดูนะคะ ว่าจะทำ My number card กันไหม 🙂

มันส์ต้องแชร์
สาวอักษรเอกจีน พูดเกาหลีที่ถนัดงาน event แต่สุดท้ายกลายมาเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกอยู่ที่ญี่ปุ่น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back To Top