พาลูกไปหาหมอครั้งแรกที่ญี่ปุ่น

บทความLeave a Comment on พาลูกไปหาหมอครั้งแรกที่ญี่ปุ่น

พาลูกไปหาหมอครั้งแรกที่ญี่ปุ่น

เนื่องจากสถานการณ์โควิดยังไม่สงบลง มาตรการของการเข้าพบแพทย์สำหรับคนไข้ที่มีไข้คือต้องโทรเข้าไปติดต่อจองคิวและคัดกรองความเสี่ยงเบื้องต้นทางโทรศัพท์ก่อน

คำถามก็จะถามว่าเป็นอะไรมา เป็นมานานแค่ไหน อาการเป็นอย่างไร ในระยะเวลา 2 สัปดาห์ได้ไปพื้นที่เสี่ยงติดโควิดหรือร้านคาราโอเกะมาไหม ถ้าผ่านการคัดกรองเบื้องต้นแล้วก็จะให้เข้าไปที่คลินิกได้ (ถ้ามีความเสี่ยงเป็นโควิดจะให้ติดต่อไปที่สาธารณสุขของเขต เพื่อเข้ารับการคัดกรองก่อนค่ะ)

พอไปถึงคลินิกก็จะต้องโทรเข้าไปอีก เพราะจะมีป้ายแจ้งว่าถ้าคนไข้มีไข้สูงกว่า 37 องศา ห้ามเข้าไปในตัวตึก ให้รออยู่ในรถหรือด้านนอก (ตอนแรกปวดหัวกับเจ้าหน้าที่มาก คุยกันทางโทรศัพท์บอกว่าคุณแม่ให้น้อง 1ขวบรถในรถคนเดียวแล้วลงมากรอกเอกสารให้ก่อนได้ไหมคะ พอเราบอกไม่ได้ค่ะ ก็จะให้ย้ายรถไปจดตรงป้ายสีน้ำเงิน เพราะไม่รู้ว่าป้ายสีน้ำเงินอยู่ไหน เห็นแต่ป้ายห้ามจอด(駐車禁止) สรุปนางให้ไปจอดตรงนั้นแหละ สุดท้ายนางออกมายกป้ายออกให้ หึหึ เรื่องไรจะให้เราทิ้งลูกไว้บนรถคนเดียวแล้วไปกรอกเอกสารข้างใน ตลกแล้วววววว แถมพอกรอกเอกสารเสร็จ เจ้าหน้าที่เดินออกมาบอกว่าคุณหมอบอกว่าให้เข้าไปรอข้างในได้ ไม่ต้องรอในรถนะ)

การไปหาหมอครั้งแรก สำหรับอาการไข้ของลูกสาวนั้น หมอก็ต้องให้ยารักษาตามอาการไปก่อน คือยาลดไข้และยาลดน้ำมูก แล้วก็นัดอีกทีประมาณ 4 วันหลังจากที่ไปหาครั้งแรก

ยาผงๆคือยาลดไข้ ส่วนยาน้ำจะเป็นยาลดน้ำมูก
สำหรับยาผงจริงๆคนญี่ปุ่นมักจะผสมในเครื่องดื่มหรืออาหารให้ลูกกิน
ซึ่งยาแต่ละชนิดสามารถผสมได้ในอาหารที่แตกต่างกันต้องหาข้อมูลก่อนผสมด้วยนะคะ ไม่งั้นลูกอาจจะไม่กิน
เช่นยาตัวนี้สามารถผสมในน้ำหรือนมวัวได้และต้องดื่มทันที ถ้าทิ้งไว้จะขม
แต่ถ้าไปผสมในน้ำส้มหรือน้ำแอปเปิ้ลจะขมเลย เป็นต้น

พอไปหาครั้งที่ 2 ตอนเช้าเปลี่ยนชุดลูกเห็นเหมือนผื่นแดงๆขึ้นเฉพาะตามตัว อันที่จริงก็สังเกตเห็นว่ามีผื่นเริ่มขึ้นมาตั้งแต่วันก่อนตอนทีหายไข้ดีแล้ว ก็เลยเริ่มเสิร์จหาข้อมูลใน internet เริ่มจากภาษาไทยก่อน เผื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่เป็นไปได้ และไปใช้เสริ์จหาเป็นภาษาญี่ปุ่นอีกครั้ง เพื่อจะได้มีคำศัพท์และรูปประโยคไปสื่อสารกับคุณหมอได้

อาจจะเป็นเพราะโชคช่วยหรือความคุ้นเคยจากการเสิร์จหาข้อมูลใน internet เป็นประจำก็เลยได้ข้อมูลที่ตรงเป๊ะๆ ว่าลูกเป็น ส่าไข้ หรือ หัดกุหลาบ ในภาษาญี่ปุ่นจะมีชื่อว่า 突発性発疹 (とっぱつせいほっしん) หรือมีชื่อเล่นว่า 小児バラ疹 (しょうにばらしん)ทำให้ตอนเข้าไปพบหมอ คุยกันสบายเข้าใจกันดี หมอดีใจตบไหล่แม่เลย 555 อารมณ์ว่าไม่ต้องพยายามอธิบายแล้ว แม่ต่างชาติคนนี้นางเตรียมตัวมา 555 พอมั่นใจว่าเข้าใจตรงกันก็ปล่อยกลับบ้านได้ เพราะโรคนี้จะหายเอง ไม่ต้องใช้ยา (นอกจากช่วงเป็นไข้ ทั้งนี้ถ้ามีแต่ไข้เนี่ยต้องรอดูอาการก่อน ฟันธงเลยไม่ได้ว่าเป็นอะไรกันแน่ เพราะไข้ขึ้นนี่เป็นได้หลายโรคมาก)

โอเค เรื่องการพาลูกไปหาหมอด้วยภาษาญี่ปุ่นอันจำกัดของแม่ก็ผ่านไปเรียบร้อย ลูกได้รับการรักษา ได้รับยาที่เหมาะสม มีทำท่าอ้อนๆซึมๆให้แม่เห็นแบบนับชั่วโมงได้ ที่เหลือนี่ขนาดมีไข้อยู่ยังวิ่งซน กินเก่ง ขับถ่ายดีตลอด

นอกจากเรื่องพบแพทย์แล้ว อีกเรื่องที่จะต้องพูดถึงคือสวัสดิการรักษาพยาบาลของที่นี่ ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปตามเขต สำหรับเขตที่อยู่นั้น ให้สิทธิ์เด็กไว้เยอะพอสมควรเลยค่ะ

ปกติคนที่ทำงานที่ญี่ปุ่น จ่ายภาษีตามปกติจะต้องมีประกันสุขภาพ (จะเป็นประกันที่ทำกับบริษัทหรือประกันที่ทำกับเขตก็ได้) คือมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพ นอกจากการจ่ายภาษีแล้ว โดยทั่วไปคนที่ถือประกันสุขภาพมาตรฐาน จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองประมาณ 35% (ยกเว้น การไปหาหมอหรือการรักษาแบบที่อยู่นอกประกัน เช่น การตั้งครรภ์ การทำเลสิก การรักษาแบบที่ไม่ใช่การรักษาเพราะป่วย เป็นต้น อันนี้ต้องจ่ายเอง 100%) แต่สำหรับเด็กแล้ว นอกจากจะมีประกันสังคมที่พ่อหรือแม่เป็นคนทำให้แล้ว ยังได้รับความช่วยเหลือจากเขตเพิ่มเติมอีกด้วย คือตอนไปแจ้งเกิดจะต้องทำเอกสารเยอะมาก รวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลของเด็ก ก็จะมีบัตรสีชมพูและใบเบิกมาให้ 

เนื่องจากเป็นการพาลูกไปหาหมอครั้งแรก ก็ไม่รู้ขั้นตอน เข้าใจว่าจะต้องรวบรวมใบเสร็จไปยื่นเรื่องเบิกกับเขตเอง แต่ปรากฎว่าคลินิกที่พาลูกไปรักษาสามารถทำเรื่องเบิกประกันสังคมและเบิกเงินจากเขตได้โดยตรงเลย คือไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเลยทั้งสองครั้งที่ไป ในขณะที่ค่ายาที่หมอสั่งนั้นก็อยู่ในประกันด้วย ต้องจ่ายเองไปทั้งหมด 50 เยน (แม่ถึงขั้นต้องถามย้ำเลยทีเดียว 55)

ขอสรุปสั้นๆว่านอกจากเรื่องภาษาที่กระท่อนกระแท่นของแม่แล้ว เรื่องอื่นๆเกี่ยวกับสวัสดิการที่นี่ สะดวกและใช้ได้จริงมากค่ะ และต้องบอกเลยว่าการทำประกันสุขภาพถ้วนหน้าของที่นี่สำคัญและจำเป็นมากๆนะคะ ถ้าไม่มีคือจ่ายอ่วมกว่าจ่ายค่าประกันรายปีแน่นอนค่ะ

มันส์ต้องแชร์
สาวอักษรเอกจีน พูดเกาหลีที่ถนัดงาน event แต่สุดท้ายกลายมาเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกอยู่ที่ญี่ปุ่น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back To Top